[เที่ยว อาเซอร์ไบจาน ด้วยตัวเอง] ‘Baku’ เมืองหลวงแห่งความหลากหลายที่ต้องมาให้ได้ซักครั้ง
“อาเซอร์ไบจาน” อาจจะเป็นชื่อประเทศที่หลายๆ คน ไม่ค่อยคุ้นหู แต่สำหรับเราแล้ว ต้องบอกว่า ประเทศนี้เป็นประเทศที่มักจะมีพาวิลเลียนในงาน เวิลด์เอ๊กโป ที่ดูล้ำมากๆ ทุกครั้ง จนทำให้เราเองรู้สึกว่า จะต้องมาเยือนประเทศอาเซอร์ไบจานให้ได้ซักครั้ง
ที่เราบอกว่า Baku เป็นเมืองหลวงแห่งความหลากหลาย นั่นก็เพราะว่า เราชอบส่วนผสมของความเก่าและความใหม่ของเมืองนี้ ตั้งแต่อารยธรรมเปอร์เซียที่เก่าแก่ ไปจนถึง ความสหภาพโซเวียตในยุคโมเดิร์นและโพสท์โมเดิร์น นี่ยังไม่รวมความล้ำสมัยของสิ่งก่อสร้างในยุคปัจจุบัน ที่อยู่อย่างลงตัวกับสถาปัตยกรรมจากยุคราชวงค์ Shirvanshah ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ดังนั้น ที่นี่จะมีทั้งตึกที่ดูยุโรปและตึกที่ดูตะวันออกกลางเต็มไปหมด
ที่นี่ยังดังเรื่องการจัดแข่งขัน Formula One อีกด้วยค่ะ
ข้อมูลทั่วไป
– ประเทศอาเซอร์ไบจาน ถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศคอเคซัส และยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งดินแดนสองทวีป เพราะบางกรณีก็จะถูกนับเป็นเอเชีย บางกรณีก็จะถูกนับเป็นยุโรป
– อาเซอร์ไบจาน เป็นประเทศที่คนไทยต้องขอวีซ่า แต่สามารถขอออนไลน์ในรูปแบบ E-Visa ได้ ซึ่งไม่ใช้เอกสารอะไรเลยนอกจากรูปหน้าพาสพอร์ท นับว่าง่ายมากๆ เหมือนไม่ต้องขอวีซ่าเลยค่ะ วิธีขอ E-Visa อาเซอร์ไบจาน สามารถคลิ๊กได้ที่นี่
– ภาษาหลักที่ใช้เป็นภาษาอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijani/Azeri) ซึ่งเท่าที่อ่านหรือฟัง รู้สึกว่าคล้าย ภาษาตุรกีพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้น คนแทบไม่พูดภาษาอังกฤษเลยยยยยยยยยยยย ยกเว้นในเมืองเก่าซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก สามารถสื่อสารได้ดีทุกร้าน นอกเหนือจากย่านนี้คือแม้แต่แท๊กซี่ หรือ คนขายของ ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เลยค่ะ (นับเลขยังยากเลยค่ะ)
– เนื่องจากเราแวะแค่แป้ปเดียว จึงไม่ได้ซื้อซิมการ์ดนะคะ แต่ซิมการ์ดสำหรับเดินทางทั้ง 3 ค่ายจากไทย ณ วันที่เราไป (มิย. 19) ยังไม่ครอบคลุมการให้บริการที่อาเซอร์ไบจานทั้ง 3 ค่ายค่ะ
– ค่าเงินที่นี่ เรียกว่า มานัต (Manat) เราถือเงินดอลล่าห์ไปแลกค่ะ ช่วงที่เราไป 1 Manat ตกอยู่ประมาณ 17 บาทนิดๆ ค่ะ ค่าครองชีพที่นี่แพงกว่าที่จอร์เจียนิดหน่อย แต่เราแทบไม่ได้ใช้อะไรเลย มีใช้แค่ค่ารถไฟใต้ดิน อาหาร ค่าฝากกระเป๋า แล้วก็บัสไปสนามบินค่ะ
– บากุ (Baku) เป็นเมืองหลวงของประเทศ อาเซอร์ไบจาน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ดูโมเดิร์นกว่า ทบิลิซี เยอะอยู่ค่ะ แค่นั่งรถไฟเข้ามาถึงสถานีรถไฟกลางก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างแล้วค่ะ
– ประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เห็นผู้หญิงแต่งตัวกันค่อนข้างโมเดิร์นค่ะ เราไม่ต้องคลุมผมค่ะ
การเดินทาง
โดยปกติแล้ว สามารถหาเที่ยวบินมาลง Baku ได้เลยค่ะ มีหลากหลายสายการบิน ส่วนเรา เดินทางเข้า Baku ทางรถไฟจากประเทศจอร์เจีย แล้วบินกลับกรุงเทพจาก Baku ด้วยสายการบิน Gulf Air ค่ะ
สำหรับใครที่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกอยู่ก็ไปเทียบราคาได้ที่ Skyscanner.com นะคะ คลิ๊กที่นี่ได้เลย!!!
One Day in Baku
อย่างที่บอกว่าเรามีเวลากันแค่ครึ่งวันที่บากุ ซึ่งเราคิดว่าน้อยไปมากๆ นะคะ ถ้ามีโอกาสคงจะกลับมาใหม่ แต่หวังว่าจะเป็นไอเดีย ให้กับเพื่อนๆ ที่สนใจจะมาสัมผัสความแตกต่างหลากหลายของเมืองหลวงแห่งอาเซอร์ไบจานแห่งนี้ค่ะ
เรามาถึงสถานีรถไฟ Baku Central ตอนเช้า เราก็นำกระเป๋าเดินทางไปฝากในล๊อกเกอร์ แลกเงิน โดยทั้งหมดจะมีบริการอยู่บริเวณชั้นเดียวกับที่รถไฟจอดเลยนะคะ จะมีพวกคล้ายๆ พ่อค้า มาเสนอให้เราแลกเงินกับเค้าโดยบอกว่าเรทเค้าถูกกว่า แต่ตอนนั้นเราไม่ได้แลกเยอะ จึงแลกที่เคาเตอร์ของธนาคารเพื่อความอุ่นใจค่ะ
จากนั้นก็เดินออกมาหน้าสถานี จะเจอกับสถานีรถไฟใต้ดิน 28 May ค่ะ เราซื้อบัตรโดยสารที่ชื่อว่า Baku Card โดยเราใส่เงินไปประมาณ 5 Manat เป็นค่าบัตร 2 Manat ส่วนค่าเดินทางเริ่มต้นที่ 0.3 Manat ค่ะ ประมาณ 5 บาท บัตรนี้เราใช้ขึ้นบัสไปสนามบินเช่นเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าเท่าไหร่ แต่รู้ว่าพอค่ะ
เรามาลงยังสถานี Icheri Sheher ซึ่งคือสถานี Old Town ค่ะ
สำหรับ Old Town แห่งนี้ เป็นจุดศูนย์กลางของดินแดนที่ราชวงศ์ Shirvanshah ปกครองในสมัยยุคกลางตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ไปจนถึง 16 โดยรอบๆ เมืองจะมี Fortress หรือ ป้อมปราการล้อม และมีพระราชวังภายใน ที่นี่ได้ถูกลิสท์ให้เป็นมรดกโลกโดย Unesco เป็นที่เรียบร้อย
แถบนี้อารมณ์คล้ายๆ เมืองตะวันออกกลาง ที่ต้องปล่อยให้ตัวเองลองเดินหลงๆ ดู เพราะมีตรอกซอกซอยเต็มไปหมด เราเดินไปเรื่อยๆ ก็มาโผล่ตรงหน้า Shirvanshah Palace ซึ่งสามารถเข้าไปชมภายในได้ แต่ด้วยเวลาอันจำกัดเราจึงถ่ายภาพบรรยากาศรอบๆ
นี่เป็นอีกภาพที่เราชอบความแตกต่างหลากหลาย ความ contrast ของเมืองนี้ วังเก่า กับตึกหน้าตาประหลาดด้านหลัง
เดินไปเดินมาหลายๆ มุมก็จะเห็นตึก Flame Tower แปลตรงตัวว่า ตึกเปลวไฟ มุมนี้มองไม่เห็น แต่จริงๆ แล้ว ตึกไฟ จะเป็นหมู่ตึกสามตึกอยู่ด้วยกันเหมือนเปลวไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ นี่เป็นอีกหนึ่งในความเปอร์เซียที่หลงเหลือเล็กๆ น้อยๆ อยู่ที่นี่
สีของอาคารทั่วเมืองจะเป็นสีทรายเต็มไปหมด สวยไปอีกแบบค่ะ
มาถึงอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ Maiden Tower แถวนี้ มีร้านค้าและร้านอาหารอยู่หลากหลายร้านเลยค่ะ คนแถวนี้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
อากาศร้อนใช้ได้เลยนะคะ จากจอร์เจียที่เย็นๆ มาถึงที่นี่ก็มีเฉียดๆ สามสิบองศาเหมือนกัน
เราแวะหนึ่งร้านแบบแรนดอมๆ เพื่อจะทานอาหารเช้าค่ะ
หน้าตาอาหารเช้าแบบอาเซอร์ไบจาน แน่นอนว่า อาหารเช้าที่มีขนมปัง ชีส มะกอก ถูกใจเราอยู่แล้ว ชีสออมเล็ทก็เป็นอีกคอมฟอร์ทฟู้ดที่ทำให้รู้สึกเริ่มมื้อเช้าได้ดี
บรรยากาศภายในเมืองค่ะ เราเดินเพลินๆ มาออกประตูชื่อ Gosha Gala Gapisi
อันนี้บอกตรงๆ เลยนะคะ เมืองบากุ ข้อมูลค่อนข้างน้อย เราเที่ยวแบบไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่เราชอบเที่ยวแบบนี้นะ เดินถามคนไปเรื่อยๆ บอกเค้าว่าจะไปขึ้นรถที่ไหน เดี๋ยวเค้าก็จะค่อยๆ ชี้ทางไป และ เราก็จะได้ค้นพบอะไรน่าตื่นเต้นไปตลอดทางเลยค่ะ นี่เป็นที่มาของคำว่า Wander ในชื่อบล็อก Eat Chill Wander เลยค่ะ
เดินผ่านกำแพงเมืองเก่ามา ก็จะเริ่มเป็นอีกบรรยากาศแล้วค่ะ ย่านช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ผู้คน ดูบรรยากาศเปลี่ยนไปจากโซนเมืองเก่าอย่างสิ้นเชิง เราว่าแถบนี้มีความโซเวียตเข้ามาผสมอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ
เดินออกมาปุ๊ปก็จะพบกับ Nizami Museum of Azerbaijan Literature โดยรูปปั้นข้างหน้าเป็นรูปปั้นของกวีและนักเขียนชาวอาเซอร์ไบจาน สมกับเป็นมิวเซียมแห่งวรรณกรรมจริงๆ อีกฝั่งเป็นสวน ดูชิวมากๆ เราเสียดายมาก ที่ติดงานที่ไทยและไม่สามารถอยู่ต่อได้อีกวันสองวัน
ติดกันเป็นย่าน Fəvvarələr Meydanı ซึ่งมีร้านค้า ร้านอาหารมากมายเลยค่ะ
เรากำลังจะเดินจากย่านนี้ มุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟใต้ดิน Sahil ค่ะ เมืองนี้ถือเป็นเมืองน่าเดินอีกเมืองค่ะ
Heydar Aliyev Centre
ที่นี่เป็นอาคารเอนกประสงค์ ภายในมีนิทรรศการที่น่าสนใจหลายอย่างเลยค่ะ แต่จุดเด่นของที่นี่ก็เห็นจะเป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ภายใต้การออกแบบของคุณ Zaha Hadid สถาปนิกเจ้าแม่แห่งเส้นโค้งผู้ล่วงลับ ซึ่งเราก็มีโอกาสไปชมงานของเธอมาหลายแห่งในโลก ต้องยอมรับว่า ที่นี่เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งและประทับใจมากๆ เลยค่ะ ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ เราเดินรอบอาคารเลย รู้สึกว่ามันพริ้วมาก
วิธีการเดินทางคือ ลงรถไฟใต้ดิน สถานี Narima Narimanov สายสีแดง แล้วขึ้นบัสสาย 2 มาอีก 2 สถานี ลงตรง Academy of Fine Arts ค่ะ แต่เดินไกลอยู่ แนะนำเรียกแท๊กซี่มาก็ไม่แพงมากนะคะ
Baku Airport
เราเดินทางกลับมาที่สถานีรถไฟ เพื่อเอากระเป๋าเดินทางที่ฝากไว้ และขึ้นรถบัสสาย H1 Airport Express ที่ออกทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ป้ายรถบัสจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวสถานีรถไฟค่ะ ถ้าอยู่ในสถานีรถไฟให้เดินทะลุร้านเสื้อผ้าชื่อ LC Waikiki มา แล้วข้ามถนนมา เดินมาทางซ้ายนิดนึง ก่อนถึงโค้งที่เลี้ยวขวา ป้ายรถบัสจะอยู่ตรงนั้นเลยค่ะ เขียนว่า Airport Express ชัดเจน ค่าโดยสาร 1.3 Manat ซึ่งในบัตรเรายังพอ
วันที่เราไป รถไม่ติด ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีค่ะ
เราว่าสนามบินที่นี่สวยนะคะ ขอเก็บภาพบรรยากาศมาให้ชมค่ะ
ถือว่าจบทริป จอร์เจีย – อาเซอร์ไบจาน อย่างสมบูรณ์ค่ะ
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรีวิว ทริปจอร์เจีย-อาเซอร์ไบจาน ผ่านบาห์เรน ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ดังนี้
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.1] รู้จัก จอร์เจีย และตอบคำถามที่ทุกคนสงสัย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.2] แผนการเดินทาง และ ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวจอร์เจีย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 3] วันแรกใน Tbilisi ฝั่งใหม่ ย่านฮิปๆ ที่ต้องไปเช็คอิน
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 4] ถนนประวัติศาสตร์มุ่งหน้าสู่เทือกเขาคอเคซัส กับที่พักวิวหลักล้าน
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.5] ‘Gori’ บ้านเกิดสตาลิน เมืองโบราณในหิน และการทำไวน์จอร์เจีย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 6] ‘Tbilisi’ เมืองหลวงทรงสเน่ห์ เพชรเม็ดงามแห่งดินแดนคอเคซัส
[รีวิว] Gulf Air สายการบินแห่งชาติบาห์เรน กับเส้นทางบิน กรุงเทพ-บาห์เรน-ทบิลิซี่-บากู
[Bahrain Transit] เที่ยวบาห์เรน แบบสั้นๆ ระหว่างแวะเปลี่ยนเครื่องกับสายการบิน Gulf Air
วิธีการขอ วีซ่า อาเซอร์ไบจาน ออนไลน์ สะดวก ง่ายและประหยัด [Azerbaijan E-Visa]
สำหรับใครที่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกอยู่ก็ไปเทียบราคาได้ที่ Skyscanner.com นะคะ คลิ๊กที่นี่ได้เลย!!!
หากชอบรีวิว ช่วยกดไลค์เพจเป็นกำลังใจให้หน่อยนะคะ หรือไปตามไอจี @eatchillwander อัพเดทกันแบบเรียลไทม์ขอบคุณมากๆ ค่า