ข้อควรรู้เกี่ยวกับการนั่งรถไฟเที่ยวยุโรป และรวมลิสท์เว็ปไซต์สำหรับจองตั๋วรถไฟแต่ละประเทศ

รถไฟ เป็นหนึ่งในวิธีเดินทางที่เป็นที่นิยมที่สุดในยุโรปค่ะ จริงๆ การเดินทางในยุโรปมีหลายวิธีนะคะ ทั้งการเช่ารถขับ นั่งรถบัส นั่งเครื่องบิน ไปจนถึงเฟอรี่ ดังนั้น เรามาดูข้อดี-ข้อเสียของการนั่งรถไฟ เพื่อเป็นการตัดสินใจก่อนดีกว่าค่ะ
ข้อดี
– สถานีรถไฟส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง จึงไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองอีกเป็นชั่วโมง
– ไม่ต้องเผื่อเวลาเช็คอิน และตรวจความปลอดภัย
– รถไฟวิ่งตรงและเร็ว (สำหรับพวก express/high speed train) ยังไงก็เร็วกว่ารถบัสวิ่งเยอะค่ะ
– ไม่มีค่าโหลดกระเป๋า และ สามารถขนของเหลวได้ (หรือจะเอาไวน์ไปกินระหว่างเดินทางก็ได้)
– เครือข่ายรถไฟของยุโรปค่อนข้างครอบคลุม สถานที่ดังๆที่นักท่องเที่ยวเยอะ ก็มีตารางรถไฟถี่
– วิวสวยๆข้างทาง
– ตรงเวลา


ข้อเสีย
– ราคา : บ่อยมากที่เราเจอตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่าตั๋วรถไฟ แต่คิดดีๆ ถ้ารวมค่าเดินทางไปสนามบิน เพิ่มอีกขาละ 10 Euro ราคาอาจจะพอๆกัน ดังนั้น ถ้าเป็นการนั่งรถไฟในระยะทางที่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง รถไฟง่ายกว่าแน่นอน
– ไม่มีรูทระหว่างเมืองเล็กๆ บางทีทำให้ต้องกลับเข้าเมืองใหญ่ก่อนแล้วไปเมืองเล็กอีกที
– ต้องดูแลกระเป๋าหนักๆของตัวเอง บางครั้งไม่มีที่เก็บของหน้าตู้โบกี้ ก็ต้องยกขึ้นที่เก็บเหนือศีรษะ นั่นหมายความว่า กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ 20-30 โล ก็ต้องยกขึ้นไปเช่นกัน ไม่งั้นคนอื่นเดินไม่ได้ * ช่วงชุลมุน อาจมีคนมาล้วงกระเป๋าได้นะคะ ต้องระวัง
– ถ้าระยะทางไกลมาก ก็ไม่คุ้ม เช่น ปารีส-บูดาเปสท์ , มิลาน-อัมสเตอดัม แบบนี้ บินดีกว่าค่ะ
– Strike หรือ การหยุดประท้วง อันนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย สมัยเราอยู่อิตาลี แต่ส่วนใหญ่ สายหลักๆ พวกข้ามเมือง ข้ามประเทศ จะไม่ค่อยยกเลิกค่ะ ยกเลิกแค่สายเล็กๆ เค้าจะมีวิธีสำรองให้เอง ใช่จัดบัสให้ หรือ เปลี่ยนตั๋วให้
คำแนะนำในการจองตั๋วรถไฟ
– โดยทั่วไป ยุโรปจะมีรถไฟความเร็วสูง, express train หรือ intercity ซึ่งมักจะหยุดแค่เมืองใหญ่ๆ รถไฟแบบนี้ต้องจองตั๋วที่นั่ง ซึ่งในตั๋วจะระบุที่นั่งเรามาเลย ตั๋วแบบนี้ ราคาขึ้นลงอย่างกะตั๋วเครื่องบิน จองล่วงหน้าถูกกว่าเยอะ จองใกล้แพง แต่ก็จะมีโปรหลุดออกมาเรื่อยๆ (ซื้อที่สถานีเลยก็ได้นะคะ ราคาเดียวกับออนไลน์ ราคาขึ้นอยู่กับ คลาส และ โปรโมชั่นค่ะ อย่าง Eurostar นี่เราเคยเจอจาก 50 เป็น 200 ยูโร ก็มีนะคะ)

– ส่วนรถไฟอีกแบบคือ regional train เป็นอารมณ์รถไฟหวานเย็น หยุดทุก stop เป็นรถไฟที่คนท้องถิ่นไว้เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ อะไรประมาณนั้น ซึ่งราคาจะถูกกว่าเยอะค่ะ ตั๋วแบบนี้ มักจะไม่ต้องจอง seat ที่นั่ง และไปซื้อเอาที่สถานีได้
– ทั้ง High Speed/Express train และ Regional train บางทีก็มีวิ่งรูทเดียวกันนะคะ ต้นทาง-ปลายทางเดียวกันก็มี แต่ระยะเวลาแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง เพราะ regional train วิ่งช้ากว่าและหยุดเกือบทุกป้ายนั่นเองค่ะ
– หากอายุไม่ถึง 26 ปี แนะนำให้สมัครบัตร Youth ไว้นะคะ ราคาลดลงไปเยอะ
– หากเป็นตั๋วที่โชว์ในมือถือได้เลย จะมี QR Code ไม่จำเป็นต้องปริ้นท์และตอกตั๋ว (validate ตั๋ว) * สำหรับบางประเทศ เช่น เยอรมัน จะขอดูบัตรเครดิตที่ใช้จองตั๋วด้วยค่ะ ซึ่งมันจะระบุใน confirmation email อยู่แล้ว

– แต่ถ้าเป็นตั๋วที่ซื้อในสถานี ต้องตอกหรือ Validate ตั๋วก่อน โดยมันจะเป็นตู้เล็กๆที่มีช่องให้เสียบตั๋ว เมื่อเสียบเข้าไปมันจะบันทึกว่าเราตอกวันไหน เวลาไหน กันเราเอากลับมาใช้ใหม่ (อันนี้เห็นคนโดนปรับกันเยอะมาก)

– Night Train หากเป็นรถไฟนอนข้ามคืน จะมีตู้แบบ 2-6 เตียง เราเคยนอนตู้ 6 เตียงค่ะ มันก็พอนอนได้พอดีนะคะ โดยตอนนั้นเรานอนข้ามประเทศ Controller เช็คตั๋วจะเอาพาสพอร์ทเราไปเก็บ แล้วมาปลุกตอนใกล้ลงค่ะ

– หากเป็นรถไฟที่ขึ้นไปบนเรือ Ferry เราต้องลงจากรถไฟในช่วงที่เรือ Ferry แล่นนะคะ อย่าตกใจถ้ามีคนมาไล่ให้ลงจากรถไฟค่ะ เค้าห้ามนั่งในรถไฟ (คือรถไฟจอดอยู่ในเรือชั้นล่าง)

เดินทางในประเทศไหนเราจองผ่านเว็ปไซต์บริษัท/การรถไฟประเทศนั้นๆ บางประเทศมีบริษัทรถไฟหลายเจ้า เหมือนมีสายการบินหลายสาย เราก็ลองกดเช็คราคาดูค่ะ แต่เราไม่ค่อยจองผ่านเอเจนซี่ เพื่อความชัวร์
หากต้นทาง-ปลายทางเป็นคนละประเทศ ให้ลองกดเช็คราคาทั้ง 2 เว็ปนะคะ เคยเจอหลายครั้งที่ประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่า ขายตั๋วรูทเดียวกัน เลขขบวนเดียวกัน ถูกกว่า (ออสเตรีย-ฮังการี, เดนมาร์ก-เยอรมัน อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ)
ประเทศ : | ผู้ให้บริการ : | รายละเอียด : |
Austria | ÖBB, www.oebb.at | เว็ปหลักรถไฟออสเตรีย |
Westbahn, www.westbahn.at | เอกชน (เน้นรูท Vienna-Salzburg ลองเทียบราคา) | |
Belgium | SNCB, www.b-rail.be | เว็ปหลักรถไฟเบลเยี่ยม |
Czech | CD, www.cd.cz | เว็ปหลักรถไฟเชค จองออนไลน์ที่ www.cd.cz/eshop. |
Denmark | DSB, www.dsb.dk | เว็ปหลักรถไฟเดนมาร์ค จริงๆ รูทในเดนมาร์คเป็นรูทที่สามารถเช็คในเว็ปสวีเดนและเยอรมันได้ เนื่องจากมักใช้ขบวนต่อๆกันในรูทเดียวกัน ลองเช็คราคาดู |
Estonia | Elron,www.elron.ee | เว็ปหลักรถไฟเอสโตเนีย เฉพาะในประเทศ |
GoRail,www.gorail.ee | รูทระหว่างประเทศ Tallinn – Moscow (ต้องผ่านด่านตรวจแชงเก้น) | |
Finland | VR, www.vr.fi | เว็ปหลักรถไฟฟินแลนด์ |
France | SNCF, www.voyages-sncf.com | เว็ปหลักรถไฟฝรั่งเศส เราชอบเว็ปนี้มาก ใช้ง่าย จองบัสและ TGV ได้ด้วย |
RATP, www.ratp.fr (Paris Métro) | สำหรับ รถไฟใต้ดินในปารีส และไปเมืองรอบๆแบบปริมนทล บัส (ไม่ต้องจอง ซื้อที่สถานี) | |
Germany | DB, www.bahn.de | เว็ปหลักรถไฟเยอรมัน **** ความพิเศษของเว็ปนี้คือ มันมีตารางรถไฟทั่วยุโรปอยู่ จริงๆสามารถกดสถานีไหนก็ได้ ไม่ใช่ในเยอรมันก็ได้ แต่มันจะกดซื้อไม่ได้ แค่มันง่ายที่เราจะกดดูเวลา แล้วมันมีรายละเอียดว่า สายไหน stop ที่ไหน มี facility อะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราแพลนทริปจากเว็ปนี้ แล้วค่อยไปกดซื้อตั๋วแต่ละประเทศอีกที // ข้อเสียคือ บางทีใส่ชื่อเมืองเป็นภาษาอังกฤษไม่ขึ้น อาจจะต้องลองแบบ Praha แทน Prague , Wien แทน Vienna เป็นต้น |
Greece | OSE www.trainose.gr | เป็นภาษากรีกเท่านั้น ไม่ค่อยได้ใช้หรอกค่ะ ในเมืองก็ใช้บัส ข้ามเมือง ข้ามเกาะ ก็ต้องนั่งเครื่องบินหรือเฟอร์รี่ ไปที่นี่เลยค่ะ www.ferriesingreece.com. |
Hungary | MAV, www.mav-start.hu | เว็ปหลักรถไฟฮังการี |
Ireland | Irish Rail, www.irishrail.ie | เว็ปหลักรถไฟไอร์แลนด์ |
Italy | Trenitalia, www.trenitalia.com. | เว็ปหลักรถไฟอิตาลี อย่างถ้าไปเมืองเล็กๆ จะมีแค่ของเจ้าหลัก แต่ถ้ารถไฟความเร็วสูงไปเมืองหลักๆ เช่น Milan-Florence-Rome-Naples-Venice จะมีคู่แข่งเอกชนด้านล่างค่ะ ให้เช็คราคาทั้ง 2 เว็ป |
Italo, www.italotreno.it | เร็วทั้งคู่ สำหรับรถไฟความเร็วสูง ส่วนใหญ่จะเลือกว่าเจ้าไหน เวลาตรงกับที่อยากไป และราคาถูกกว่า | |
Circumvesuviana Railway,www.eavsrl.it | สำหรับข้อมูลรถไฟ สายที่ไป Naples, Pompeii – Sorrento แต่ไปซื้อตั๋วที่สถานีได้เลยค่ะ | |
Latvia | LDZ, www.ldz.lv | เว็ปหลักรถไฟลัตเวีย |
Lithuania | LG, www.traukiniobilietas.lt | เว็ปหลักรถไฟลิทัวเนีย |
Netherlands | NS, www.ns.nl | เว็ปหลักรถไฟเนเธอร์แลนด์ แต่ถ้ารูทต่างประเทศ เว็ปนี้ค่ะ www.nsinternational.nl (ไม่ก็กดพวก Thalys / Eurostar รายละเอียดด้านล่างค่ะ) |
Norway | NSB, www.nsb.no | เว็ปหลักรถไฟนอร์เวย์ |
Poland | PKP, www.pkp.com.pl , www.intercity.pl | เว็ปหลักรถไฟโปแลนด์ |
Portugal | CP, www.cp.pt | เว็ปหลักรถไฟโปรตุเกส |
Slovakia | ZSR, www.slovakrail.sk | เว็ปหลักรถไฟสโลวาเกีย (เรียนตรงๆ เราไม่เคยใช้นะคะ ปกติใช้ ของออสเตรีย/ฮังการี) |
Slovenia | SZ, www.slo-zeleznice.si | เว็ปหลักรถไฟสโลวีเนีย (เช่นกัน อันนี้เราจองผ่านอิตาลี) |
Spain | RENFE, www.renfe.com | เว็ปหลักรถไฟสเปน |
Euskotren, www.euskotren.es | รถไฟฉิ่งฉับสาย Hendaye-Irun-San Sebastian-Bilbao | |
Sweden | SJ, www.sj.se | เว็ปหลักรถไฟสวีเดน (รวมถึงสาย scenic route ด้วยค่ะ) |
Blå Tåget www.blataget.com | ออปชั่น เอกชน รันระหว่าง Stockholm – Gothenburg (อันนี้ช้ากว่า) | |
Öresund link trains,www.oresundstag.se | ออปชั่น สำหรับวิ่งจาก Copenhagen, Malmö – Gothenburg | |
Switzerland | SBB, www.sbb.ch | เว็ปหลักรถไฟสวิสเซอร์แลนด์ |
International | Eurostar, www.eurostar.com | รถไฟความเร็วสูง London – Paris / Brussels / Amsterdam จองใกล้ๆราคาโหดขึ้นเยอะ |
Thalys, www.thalys.com | รถไฟความเร็วสูง Paris – Brussels /Amsterdam / Cologne | |
TGV-Lyria, www.tgv-lyria.com | อันนี้ TGV ของฝรั่งเศสทำร่วมสวิสค่ะ รูทความเร็วสูง ฝรั่งเศส – สวิส | |
Thello, www.thello.com | รถไฟนอน Paris-Milan-Verona-Venice |
อีกออปชั่นนึงที่หลายคนเลือกใช้คือ Eurail ซึ่งเป็นเหมือนการซื้อพาสรถไฟ แบบขึ้นได้ไม่จำกัดตามจำนวนวัน แต่เนื่องด้วยสไตล์การเที่ยวของเราไม่ค่อยไปหลายเมืองในเวลาสั้นๆ แถมเวลานั่งรถไฟเร็วต้องจ่ายค่าจองที่นั่งเพิ่มอีก จึงไม่คำนวนแล้วไม่เคยคุ้มกับแพลนที่ทำ ยังไงลองพิจารณาดูแล้วแต่แพลนแต่ละคนค่ะ
Tips เล็กๆน้อยๆ
– รถไฟออกตรงเวลา แต่ไปถึงสถานีอย่างน้อย 15-20 นาทีกำลังดีค่ะ (ถ้ายังไม่โปร ก็เผื่อเวลามากกว่านั้นก็ได้ค่ะ) เพราะบางทีสถานีใหญ่ ชานชาลาอยู่ไกลกันมากกกกกกก บางสถานีมีสแกนความปลอดภัย
– อย่าลืม validate ตั๋วทุกครั้งนะคะ (ยกเว้นตั๋วในมือถือแบบไม่ต้องปริ้นท์ ใช้ QR Code ได้ค่ะ)
– เช็คเลขรถไฟก่อนขึ้นทุกครั้ง, บางครั้งป้ายตรงชานชาลาจะขึ้นแค่สถานีปลายทาง (เช่น สมมติ รถไฟวิ่งจาก เมือง A ไปเมือง C แต่เราจะลงเมือง B ซึ่งเป็นเมืองเล็ก บางทีตรงป้ายจะไม่ขึ้นเมือง B กรณีนี้ให้เช็ค เวลาออก และ เลขของตัวรถไฟค่ะ เช่น Frecciarossa 132 , Intercity 7095 อะไรก็ว่าไป)
– รถไฟที่มาจอดที่ชานชาลาที่เราอยู่อาจจะไม่ใช่ขบวนที่เราต้องไป อันนี้ต้องอ่านป้ายบนชานชาลาและป้ายข้างรถไฟทุกครั้งก่อนขึ้นนะคะ บางทีขบวนก่อนหน้ามาก่อนขบวนเรา 10 นาที ถ้าหลงขึ้นไปก็ผิดทันที

– สถานีใหญ่ส่วนใหญ่จะบอกไว้อยู่แล้วว่า รถขบวนที่เท่าไหร่จะจอดตรงตำแหน่งไหน ก็ลากกระเป๋าไปรอตรงนั้นได้เลยค่ะ (ตามรูปด้านบนจะบอกเป็น Class ค่ะ ABCD คือโซนที่รถไฟจะจอด ในรูปจะเห็นโซน D อยู่ค่ะ)
– พยายามขึ้นรถให้ถูกขบวนที่ระบุไว้ในตั๋ว เราเคยเจอเคสที่รถไฟไปแยกกันกลางทาง แบบครึ่งคันไปเมืองนึง อีกครึ่งแยกไปอีกทาง
– หลักๆแล้ว ที่นั่งรถไฟในยุโรปจะมีแบบ
: ไม่ระบุที่นั่งเลย ระบุแค่คลาส — แบบนี้ให้สังเกตุคนโลคอล ถ้าเค้ารีบไปต่อแถวกัน แปลว่าขบวนนั้นมีโอกาสเต็ม อาจจะได้ยืนตลอดทางนะคะ แต่ถ้าเค้าดูชิวๆ ก็ชิวค่ะ มีที่แน่นอน
: ให้เราเลือกเองว่าจะจองที่นั่งเพิ่มรึปล่าว — แบบนี้เจอในเยอรมันค่ะ Reserved Seat เพิ่มหลายยูโรอยู่ค่ะ แบบนี้เสี่ยงดวงนิดนึง คือถ้าเต็มขึ้นมาจริงๆก็ต้องยืนนะคะ เราใช้วิธี ถ้ารูทไม่ยาว และดูไม่ป๊อปปูลาร์ ก็ไม่จองเพิ่ม (น่าจะ 9 Euro) แต่ถ้ารูทยาว ก็จองเพื่อความสบายใจค่ะ
: บังคับซื้อที่นั่งเพิ่มแต่ไม่ได้รวมในตั๋วรถไฟ — แบบนี้เจอใน Intercity บ่อยค่ะ คือตั๋วรถไฟเป็นตั๋วตามระยะทาง ใช้คู่กับ ตั๋วที่จะนั่งรถไฟขบวนนั้นๆ แต่คนขายตั๋วเค้าบอกเราอยู่แล้วค่ะ (ความเข้าใจผิดมักจะเกิดจากการที่เราบอกเค้าว่าไปไหน แต่ไม่ได้บอกว่าจะขึ้นขบวนเร็ว เค้าเลยขายให้แค่ตั๋วตามระยะทาง แต่ไม่ได้ขายตั๋วนั่งขบวนเร็วมา เราเคยโดนปรับครั้งนึง รูท Budapest-Debrecen)
: ตั๋วรถไฟระบุที่นั่งอยู่แล้ว — ไปนั่งเลยค่าาา ซื้อน้ำซื้อหนมไปก่อนนะคะ มีถาดและถังขยะ พร้อมปลั๊กไฟให้ ดูหนังชิวๆ

– รถไฟบางสายต้องเปลี่ยนขบวน เหมือน stopover ที่สนามบิน จะบอกว่า สถานีเล็กๆที่ต้องเปลี่ยนขบวนส่วนใหญ่ การเดินทางจากชานชาลานึงไปอีกชานชาลา มักจะต้องขนกระเป๋าขึ้นลงบันได แบบไม่มีลิฟท์ ให้เผื่อเวลาตรงนี้ด้วยค่ะ

– อย่าลืมตั้งนาฬิกาปลุกก่อนใกล้ถึงเวลาลงด้วยนะคะ บางสถานีจอดแค่ 3 นาทีนะ / ดูป้ายสถานีดีๆด้วยค่ะ เผื่อรถไฟดีเลย์กว่ากำหนด แล้วยังไม่ถึง / สถานีบางอันชื่อขึ้นต้นเหมือนกัน ข้างหลังไม่เหมือน ดูดีๆนะคะ เช่น Milano Rogoredo ถึงก่อน Milano Centrale ไม่กี่นาที แต่ยังไม่ใช่มิลาน เป็นต้น

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคนนะคะ หากมีข้อสงสัยตรงไหน inbox มาถามได้เสมอเลยนะคะ
สำหรับใครที่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกอยู่ก็ไปเทียบราคาได้ที่ Skyscanner.com นะคะ คลิ๊กที่นี่ได้เลย!!!
หากชอบรีวิว อย่าลืมกดไลค์เพจ และ ติดตามไอจี @eatchillwander ด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆ ค่า
ติดตาม Eat Chill Wander ได้ที่
Facebook : Eat Chill Wander
Instagram : @eatchillwander
Twitter : @eatchillwander
Youtube : Eat Chill Wander
Website : www.eatchillwander.com