เรื่องที่ควรรู้ก่อน ขับรถเที่ยวยุโรปและอเมริกา – วิธีเติมน้ำมัน การจอดรถ กฎต่างๆ
หากคำถามของคุณคือ “ขับรถสลับไปเลนส์ขวายากมั้ย?” เราขอบอกเลยค่ะว่าไม่ยาก เพียงแค่คุณต้องตั้งสติในช่วงแรกนิดหน่อย พอเริ่มชินก็สบายแล้ว จะสับสนอีกทีก็ตรงวงเวียน จนผ่านไปครึ่งชั่วโมงแรก คุณจะไม่รู้สึกว่ามันยากอีกต่อไป และจริงๆ แล้ว เรื่องที่ควรรู้เวลาเช่ารถขับในต่างประเทศมีมากกว่านั้น
เลี้ยวขวาไม่ได้ผ่านตลอด, จอดรถซ้อนคันไม่มีในต่างประเทศ, วิธีการเติมน้ำมัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลยค่ะ วันนี้ นัทจึงขอรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ควรทราบจากประสบการณ์มาเล่าให้ฟังกัน
เช่ารถขับ หรือ ใช้ขนส่งมวลชน ดีกว่า?
ขึ้นอยู่กับการวางแผนทริปและสถานที่ที่คุณจะไป เราไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าแบบไหนดีกว่า แต่ทั้งอเมริกา, ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป และ ญี่ปุ่น ขับรถค่อนข้างง่าย เนื่องจากมอเตอร์ไซค์ไม่เยอะ และ ขับกันเป็นระเบียบ (สำหรับยุโรป ยิ่งเหนือยิ่งเป็นระเบียบ เริ่มมาทางใต้ ก็จะมีคนขับรถแย่มากขึ้นนิดหน่อย แต่โดยทั่วไป ถ้าขับในกรุงเทพได้ ก็น่าจะขับที่อื่นได้ค่ะ)
– ค่าใช้จ่าย : เราตอบไม่ได้ว่าแบบไหนแพงกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ไปกันกี่คน หากไป 4 คน ก็เป็นไปได้ว่า เช่ารถอาจจะถูกกว่า เพราะตั๋วรถไฟเร็วข้ามเมืองใหญ่ๆ ราคาค่อนข้างสูง และ ต้องดูเมืองที่คุณจะไปเป็นลักษณะไหน หากเป็นเมืองใหญ่ในเมือง รถติดๆ หาที่จอดยาก ก็ไม่ควรใช้รถ เพราะค่าที่จอดรถแพงมาก แต่หากไปเมืองเล็กๆในชนบท ใช้รถก็จะสะดวกกว่านั่งบัสเยอะค่ะ
– เวลา : ถ้าเทียบกับรถไฟแบบ express ขับรถมักจะช้ากว่า แต่ถ้าเทียบกับรถไฟแบบ regional หวานเย็น ขับรถจะเร็วกว่า และเราไม่ต้องรอรอบด้วย สามารถกำหนดแพลนต่างๆได้เอง โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไปกันเยอะๆ เรามักจะไปเช้ากว่า หรือกลับเย็นกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้ง่ายๆ หากเราขับรถ
ข้อดีของการขับรถก็คือ ไม่ต้องห่วงเรื่องกระเป๋าเดินทาง เรื่องเวลา และสามารถแวะที่ไหนก็ได้เท่าที่จะอยากแวะ เมืองเล็กๆในยุโรปหลายๆเมือง ไม่มีบัสหรือรถไฟไปถึงกัน ก็ต้องย้อนเข้าเมืองใหญ่ก่อน ซึ่งถ้าขับรถ เราก็แวะได้เลย
ข้อเสียคือ ต้องมีคนเสียสละขับรถ หากใช้รถไฟ เรายังสามารถนอนข้ามคืนบนรถไฟได้ แล้วก็หากเราแพลนทริปเริ่มจากที่นึงไปจบอีกที่นึง (เช่น บินเข้าปารีส บินกลับจากมิลาน) แบบนี้ค่าคืนรถต่างสถานที่จะแพงมากเกินไปจนไม่คุ้มค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีเรื่อง ต้องระวังพวกทุบกระจกรถ แล้วก็การหาที่จอดรถค่ะ
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
– ค่าเช่ารถ : ต้องดูว่ารวมประกันรึยัง ส่วนใหญ่เวลาเค้าโฆษณา หรือ ในเว็ปหาค่าเช่ารถ มันจะแสดงแค่ค่าเช่า แต่ไม่รวมค่าประกัน แต่บางเจ้าก็รวมแล้วค่ะ ประกันเองก็มีหลายส่วน หลายแพกเกจ นัทเขียนรายละเอียดไว้พาร์ทสุดท้ายนะคะ
– ค่าที่จอดรถ : ประเทศค่าครองชีพแพง ค่าจอดรถก็แพงเป็นธรรมดาค่ะ ขนาดตามโรงแรม ยังคิดค่าจอดข้ามคืน อาจสูงถึง 20 Euro ได้เลยนะคะ ในตัวเมืองปารีส โรงแรมห้าดาว ค่าจอดรถแพงมากๆๆๆ ค่ะ ส่วนประเทศค่าครองชีพต่ำ หรือ เมืองที่ไม่ค่อยหนาแน่น ก็จอดสบายๆ
– ค่าทางด่วน : ขับรถข้ามเมืองส่วนใหญ่ต้องใช้ทางด่วนอยู่แล้วค่ะ หลายๆที่มี pass ซึ่งซื้อกับบริษัทเช่ารถได้เลย เช่น ในรัฐ Florida จะมี Sunpass , Hokkaido ก็มี Expressway Pass, ถ้าเป็นสวิส เราขับผ่านด่านเข้าไป เค้าจะบังคับซื้อไปเลยค่ะ เรียกว่า Vignette ติดหน้ารถ นอกจากนี้ ก็จะเป็นการรับบัตรตรงทางเข้า แล้วเอาไปจ่ายตรงปลายทาง ราคาค่าทางด่วนขึ้นอยู่กับระยะทาง / ยุโรปส่วนใหญ่รับบัตรเครดิตตรงทางด่วนค่ะ
– ค่าน้ำมัน ปกติเราก็เสิร์ชดูคร่าวๆ ว่าราคาน้ำมันแต่ละที่ราคาเท่าไหร่ค่ะ
สิ่งที่ควรรู้และคำแนะนำ
ตอนรับรถ
– ให้ถ่ายรูปรอบรถหรือวิดีโอไว้ด้วยค่ะ เพื่อความสบายใจ จริงๆถ้าเราซื้อรวมประกันมาด้วย จริงๆมันคัฟเวอร์พวกรอยพวกนี้ แต่เพื่อความชัวร์ ถ่ายไว้ก่อนค่ะ เผื่อมีตุกติก
– ถามมาเลยว่าเติมน้ำมันอะไร แต่ละที่เรียกน้ำมันไม่เหมือนกันค่ะ บางทีมันก็ไม่มีเลข เขียนว่า benzine unleaded อะไรแบบนี้ บางประเทศมีแค่ regular, plus และ diesel เวลาออกจากร้านเช่ารถมาแล้ว บางทีหาข้อมูลไม่เจอว่าใช้น้ำมันอะไร
– ที่ยุโรปส่วนใหญ่ รถที่ค่าเช่าถูกจะยังเป็นเกียร์ธรรมดา รถเช่าเกียร์ออโต้มักจะแพงกว่า ดังนั้น ดูดีๆ นะคะว่าเกียร์อะไร
ขณะขับรถ
– ที่ยุโรปไม่ได้มี “เลี้ยวขวาผ่านตลอด” (ถ้าเป็นที่ไทยคือเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด) แม้รถจะว่างขนาดไหน ก็ต้องรอสัญญาณไฟนะคะ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ไม่มีเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ต้องรอไฟเขียว สำหรับอเมริกา เลี้ยวขวาผ่านตลอด ได้ค่ะ
– ในยุโรปต้องเปิดไฟหน้ารถตลอดเวลา รถรุ่นหลังๆจะมี Daytime Running Light อยู่แล้วค่ะ
– การขับรถเลนส์ขวา : ขับช้าชิดขวา ขับเร็วชิดซ้าย เวลาจะแซง แซงด้านซ้าย แต่ที่นี่ขับรถกันเป็นระเบียบ มาลองขับแล้วจะติดใจค่ะ
– ในฝรั่งเศสมีวงเวียนประมาณ สามหมื่นกว่าวงเวียน วงเวียนเยอะมากกกกกกกกกกก เวลาจะเข้าไปก็ตั้งสติหน่อยค่ะ ต้องวนขวา และ ดูรถทางซ้าย ให้ในวงเวียนไปก่อน
– กฎอื่นๆ ก็มีหลากหลายเลยค่ะ เช่น ในเวียนนา ห้ามบีบแตร, ในอิตาลี จะมี ZTL (Zona Traffico Limitato หรือ Limited Traffic Zone) โซนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเขตเมืองเก่า รถจะต้องติดสติ๊กเกอร์เท่านั้น หรือเป็นป้ายทะเบียนที่ register เท่านั้นถึงจะผ่านได้ (ซึ่งมันไม่ได้มีคนตรวจนะคะ เราเข้าไปได้เลย เค้ามีกล้อง เดี๋ยวค่าปรับก็ส่งตามมาที่บ้านเองค่า)
– ในเมืองส่วนใหญ่จะขับได้ไม่เกิน 60 km/hr นอกเมืองจะได้ประมาณ 130 km/hr อันนี้หลังๆ นัทถามมาจากร้านเช่าก่อนเลยว่า ขับได้เท่าไหร่ แล้วก็อาศัยดูรอบๆ ตัวเอง
– ไฮเวย์/มอเตอร์เวย์ (Autobahn/Autostrada/Autoroute/Autocesta) ในเยอรมันฟรีเกือบทั้งหมด
ส่วนในฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส กรีซ โครเอเชีย จะต้องรับบัตรตรงทางเข้า แล้วเราออกตรงไหน ค่าทางด่วนจะคิดตามระยะทางค่ะ ตรงขาออกก็ไม่มีเจ้าหน้าที่นะคะ เป็นตู้อัตโนมัติ จ่ายได้ทั้งแบงค์ เหรียญ และ บัตรเครดิตค่ะ
ใน ออสเตรีย บัลแกเรีย เช็ค ฮังการี โรมาเนีย สวิสเซอร์แลนด์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย จะใช้เป็นพาสที่เรียกว่า Vignette ซึ่งสามารถซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันค่ะ มันมีแบบ 7-10 วัน ราคาแต่ละที่ไม่เท่ากัน แต่สวิสมีแต่รายปี ให้ดูก่อนว่า รถที่เช่ามามีอยู่แล้วรึป่าว
ในสหรัฐอเมริกา อาจจะต้องเตรียมเหรียญไว้หน่อยนะคะ เพราะบางป้อมรับแต่เหรียญ เป็นแบบโยนๆเข้าไปใน ปากปล่องใหญ่ๆ
ส่วนที่ญี่ปุ่น ค่าทางด่วนแพงมาก ถ้าภูมิภาคไหนมีพาส คำนวนแล้วคุ้มให้จัดพาสเลยค่ะ
ประเทศอื่นๆ นอกเขตแชงเก้น ที่นัทเคยขับได้แก่ แอฟริกาใต้ คีร์กีซสถาน จอร์เจีย ตุรกี โมรอคโค บอสเนีย ฯลฯ ก็โอเคทุกที่เลยค่ะ สบายๆ ถ้ามีอะไรจะโน้ตไว้ในรีวิวแต่ละทริปอีกทีค่ะ
– ในฤดูหนาว สิ่งที่อันตรายกว่าหิมะ คือ “Black Ice หรือ Clear Ice” ค่ะ มันคือน้ำแข็งที่คลุมถนนอยู่แต่มองไม่เห็น ทำให้พื้นลื่นเหมือนลานสเก็ตเลยค่ะ ส่วนใหญ่ จะเป็นตอนเช้าที่รถยังไม่ค่อยมีใครขับผ่าน ถ้าถนนที่รถผ่านเยอะๆ มักจะละลายไปแล้วค่ะ ถ้าลื่นก็อย่าเหยียบเบรก (เราไม่เคยขับแล้วลื่นบน Black Ice แต่เคยเห็นเหตุการณ์ แต่ถ้าเดินแล้วลื่นนี่บ่อยเลยค่ะ มันไม่ใช่หิมะละลายนะคะ มันคือเลเยอร์น้ำแข็งเลย)
– อเมริกาใช้หลักไมล์และแกลลอนนะคะ เราเคยลืมตัวมาแล้ว! เหยียบไป 100 miles per hour ก็คิดว่าทำไมเหยียบร้อย รถมันปลิวๆ ผิดปกติ
อาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนตัวนัทยังไม่เคยเจออาชญากรรม ทั้งเรื่องของการล้วงกระเป๋า จี้ปล้น สแกม และ การใช้รถค่ะ เลยยังไม่มีประสบการณ์มาเล่า แต่โดยหลักๆ ก็คือ
– ไม่ทิ้งสิ่งของมีค่าไว้ในรถ ฝรั่งเศส-อิตาลีนี่โดนเตือนเยอะมากเลยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นที่จอดที่ไม่มีคนเฝ้า และไม่พลุกพล่านยิ่งน่ากลัวค่ะ เพื่อนเคยโดนที่ฝรั่งเศส เค้าบอกว่า โดนทุบ ขโมยแจ๊กเก็ตบ้าง หมวกบ้าง สายชาร์จบ้าง สรุปอย่าทิ้งอะไรไว้ทั้งนั้น
– ทางยุโรปใต้ ถ้ามีรถมอเตอร์ไซค์มาพับกระจกข้าง อย่าเพิ่งเปิดหน้าต่างออกไปเปิดกระจกข้างนะคะ เค้าปล้นนาฬิกากันค่ะ ถ้าฝั่งคนนั่ง มีคนรู้จักโดนเอากระเป๋าที่วางบนตักไปก็มีค่ะ
– อีกทริคนึงคือทำให้ยางแบน เวลาจอดติดไฟแดง เค้าจะหาอะไรมาแทงให้ยางมันแบนอ่ะค่ะ แล้วพอเราลงจากรถมาดูก็จะทำท่ามาช่วยแล้วปล้น เคสนี้ ในเว็ปต่างชาติ บอกว่า ให้ล๊อครถ แล้วโทรเรียกประกัน หรือหากจะลงจากรถไปดู ให้ล๊อครถทุกครั้ง ถ้าไปหลายคน ให้ทิ้งบางคนไว้ในรถแล้วล๊อครถด้วย ประมาณนี้ค่ะ
– หลักๆคือ พยายามอย่าเปิดรถ เปิดกระจก แล้วก็อย่าเพิ่งไว้ใจคนที่ทำท่าทีจะมาช่วยค่ะ
– ส่วนเมกา นี่แล้วแต่รัฐ แต่ก็อย่างที่ได้ยินข่าวกันบ่อยๆว่ามีการจี้ปล้นตามปั๊มน้ำมันบ้าง เราไม่เคยเจอกับตัว แต่มีเพื่อนที่ Detroit เคยโดนค่ะ เราว่าต้องใช้คอมมอนเซนส์ หาปั๊มที่คนเยอะๆ ไม่เปลี่ยว
การจอดรถ
– ส่วนใหญ่ที่จอดรถ จะมีสัญลักษณ์ P หรือ Parking นะคะ
– หากเป็นที่จอดรถข้างทาง ริมถนน ที่ไม่ได้เป็นตึกจอดรถ ต้องหาตู้จ่ายเงิน ที่มันจะปริ้นท์ตั๋วจอดรถออกมาให้เรา หยอดเหรียญไปตามระยะเวลาที่เราต้องการจอด แล้วเอาไปใส่ไว้หน้ารถค่ะ ซึ่งต้องกะเวลาให้พอดีๆ หากเกินเวลาอาจจะโดนปรับนะคะ — หลังๆ มา ตู้รุ่นใหม่จะให้ใส่เลขทะเบียนรถไปตอนกดจ่ายเงินเลย ถ้าเป็นแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ตั๋วไว้หน้ารถค่ะ — ถ้าไม่จ่าย อาจจะโดนปรับค่ะ
– อ่านป้ายดีๆ ลานจอดรถ/ริมถนน ส่วนใหญ่ในยุโรปจะคิดค่าจอดแค่ช่วง 8.00-20.00 จันทร์-ศุกร์ เสาร์อีกครึ่งวัน วันอาทิตย์จอดฟรี ถ้าเป็นช่วงที่จอดฟรี ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อตั๋วมาใส่ค่ะ แต่ละเวลาค่าจอดไม่เท่ากัน
– ที่ญี่ปุ่นใช้วิธีเดียวกันเป็นตู้หยอดเหรียญค่ะ บางทีมันจะมีที่กั้นใต้ล้อ กันไม่ให้เราออก ต้องไปกดจ่ายก่อน แล้วที่กั้นล้อมันต่อพับลงไปค่ะ
– ในอเมริกา เมืองใหญ่ๆอย่าง San Francisco, Miami, New York City ฯลฯ สามารถจ่ายค่าจอดรถผ่านแอพออนไลน์ได้ค่ะ ตรงตู้ออกตั๋วมันจะมีชื่อแอพบอก ใส่แค่หมายเลขทะเบียนเข้าไป ไม่ต้องติดอะไรไว้หน้ารถเลยค่ะ ข้อดีคือเราสามารถกดขยายเวลาได้ในแอพ โดยไม่ต้องเดินกลับมาที่รถค่ะ
– สำหรับตึกจอดรถจะมีหลายเรทราคา ในย่านที่พักอาศัยใกล้ตัวเมืองจะมี Parking Garage เต็มไปหมดเลยค่ะ Private Parking จะแพงกว่า แต่ว่ากันว่า ปลอดภัยกว่า วิธีใช้ก็คือ กดตั๋วตอนเข้าไปจอดได้เลย แล้วค่อยนำตั๋วใบนี้มาจ่ายเงินตอนที่จะเอารถออกค่ะ ตู้จ่ายเงินมักจะอยู่ติดกับบันได หรือทางเข้า เมื่อจ่ายเงินเสร็จให้เก็บตั๋วใบเดิมไว้ แล้วนำไปเสียบตรงทางออกค่ะ มันจะคิดตามระยะเวลาที่เราจอด (เรทกลางวันกลางคืนไม่เท่ากัน เหมาวันกับรายชั่วโมงก็ไม่เท่ากัน แต่ตู้จะคำนวนให้เราอัตโนมัติค่ะ) – ที่จอดแบบนี้ไม่มีพนักงานนะคะ self-service ทั้งหมดค่ะ
– วิธีหาที่จอดรถ เสิร์ชกูเกิ้ลแมพว่า Parking ได้เลยค่ะ
– ห้ามมมมมเด็ดขาด คือการจอดซ้อนคันแล้วปลดเกียร์ว่าง ที่โน่นไม่รู้จักนะคะ เพราะ Mindset เค้าคือ ห้ามแตะรถคนอื่น นั่นหมายความว่า ไอ่การจะลงไปเลื่อนรถคนอื่น นี่มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก (ซึ่งเวลาเพื่อนฝรั่งมาไทย แล้วเราพาเค้าไปห้าง เค้าจะงงมาก ว่าได้ด้วยหรอ แบบเกิดอะไรขึ้น)
การเติมน้ำมัน
แต่ละที่ไม่เหมือนกัน แต่มันมีไม่กี่แบบค่ะ เวลาหาปั๊มก็เสิร์ช Gas Station ในแมพได้เลยค่ะ
1. แบบมีพนักงานที่ปั๊มน้ำมันเหมือนเมืองไทย เคสนี้จะเจอได้ตามประเทศที่ค่าแรงไม่สูงมาก เช่น โมรอคโค จอร์เจีย ตุรกี
2. แบบเติมก่อนจ่ายที่หลัง เคสนี้ใช้ความเชื่อใจคนเติมน้ำมันมากๆ เมื่อก่อนในยุโรปเจอบ่อยมาก เดี๋ยวนี้เริ่มไม่มีแล้วค่ะ ประเทศที่เจอล่าสุดคือโครเอเชียกับไอซ์แลนด์ เราสามารถไปถึงตู้แล้วยกหัวจ่ายน้ำมัน มากดเติมได้เลย แล้วจึงเดินเข้าไปจ่ายเงินที่เคาเตอร์ในร้านแบบมินิมาร์ท โดยบอกเลขตู้พนักงานได้เลยค่ะ
3. แบบจ่ายก่อนเติมทีหลัง ตู้ส่วนใหญ่จะใส่บัตรเครดิตเข้าไปได้ เค้าจะให้ใส่เข้าไปก่อน แล้วกดเติมน้ำมันได้เลย บัตรก็จะชาร์จตามจำนวนที่เราจ่ายไป แต่ถ้าไม่มีบัตรเครดิต ก็คือเดินไปจ่ายเงินที่เคาเตอร์ก่อน บอกเค้าว่าจะเติมเท่าไหร่ ให้เค้ากะให้ก็ได้ค่ะ จอดรถที่ตู้จ่ายน้ำมันเลย บอกเบอร์ตู้เค้า แล้วก็เดินกลับมาเติม
ที่แปลกๆ ที่เคยเจอ ก็จะมีแบบ รูดไปก่อน 40$ แต่เติมไม่ถึง มันก็จะชาร์จแค่เท่าที่เราเติม ที่เหลือไม่ได้หายไป
แล้วก็จะมีเคสที่ปั๊มนั้นเป็นปั๊มเฉพาะสมาชิก รับเฉพาะบัตรเครดิตที่ร่วม (อารมณ์แบบ บัตรเครดิตปั๊มเชลล์ เท่านั้น อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ แต่มันจะมีป้ายรูปบัตรเครดิตที่รับค่อนข้างใหญ่)
ประกันในการเช่ารถ
หากเป็นร้านเช่ารถท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเค้าจะบอกว่ารวมทั้งหมดเลย ถ้ารถมีปัญหาอะไรให้เรียกเค้าได้เลย หรือถ้ามีรอยขีดข่วนก็คลอบคลุมแล้ว (แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า คัฟเวอร์เฉพาะรถ ไม่คัฟเวอร์คน หรือ Personal Accident Insurance นะคะ ซึ่งส่วนตัวเราซื้อประกันการเดินทางรายปี ที่ครอบคลุมอยู่แล้ว)
แต่จริงๆ ประกันในการเช่ารถตามบริษัทเช่ารถใหญ่ๆ จะแบ่งเป็นหลายส่วนมาก ที่มักจะเห็นได้แก่
1. Collision Damage Waiver (CDW) หรือ Loss Damage Waiver
อันนี้แปลว่า เราจะต้องจ่ายสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้ามากกว่านั้นก็จะถูกเวฟให้
สมมติว่า แพ๊กเกจเบสิค อาจจะมี CWD up to 1600 Euro แปลว่า ถ้าเราทำรถเค้าเสียหาย ความเสียหาย 2000 Euro เรายังจะต้องจ่าย 1600 Euro แรกอยู่ดี แต่มากกว่านั้นไม่ต้องจ่าย ทำให้เวลาดูแพ๊กเกจ จะเริ่มตั้งแต่ CDW สูงๆ ไปจนถึง CDW เป็นศูนย์ นั่นคือไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แต่ CDW ที่คัฟเวอร์ทุกอย่าง ก็แลกด้วยการที่เราจ่ายค่าประกันที่แพงขึ้นค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น CDW จะไม่รวมอีก 2 ส่วน นั่นก็คือ
2. Tire and Glass coverage
เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมไม่รวม แต่ปกติเค้าจะให้กดแยกค่ะ หากมีความเสียหายเกี่ยวกับกระจกและล้อรถ ตรงนี้จะเป็นตัวคุ้มครองค่ะ
3. Personal Accident Insurance
อันนี้จะเป็นประกันที่คุ้มครองตัวบุคคลค่ะ
โดยทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทอีกที ส่วนใหญ่เราจะอ่านคร่าวๆ ว่าแต่ละที่คุ้มครองอะไรบ้าง คุ้มมั้ย เรามีอยู่ในประกันการเดินทางรึยัง อีกอย่างที่นำมาใช้พิจารณานอกจากเรื่องของราคาและค่าใช้จ่ายแล้ว คือดูว่าที่นั่น สภาพท้องถนน การขับรถเป็นประมาณไหน อย่างญี่ปุ่น เราจะไม่ค่อยห่วง แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็จะรวมประกันมาให้อยู่แล้วค่ะ
เคยได้ยินว่า บางที่ก็จะมี scam ขูดรีดบ้าง อย่างบาหลี หรือ ไอซ์แลนด์ แนะนำว่าก่อนจะเช่ารถที่ไหน ให้อ่านรีวิว ทั้งการขับรถเที่ยวที่นั่น และบริษัทที่จะเช่าก่อนค่ะ อ่านในกูเกิ้ลรีวิวที่เป็นดาวๆ เลยก็ได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังตั้งใจจะไปเที่ยวโดยการขับรถที่ต่างประเทศนะคะ
ไปอ่านรีวิวที่เราเที่ยวโดยการขับรถตามประเทศต่างๆ ได้